“คนไทย” โดยเฉพาะชาวเพชรบูรณ์ได้ร่วมกันแสดงความยินดี Thai PBS Sci & Tech เปิดภาพ “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” ถ่ายโดยดาวเทียมสำรวจโลก WorldView-3 ซึ่งล่าสุดได้รับการประกาศขึ้นเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากยูเนสโกเมื่อวันอังคารที่ 19 ก.ย. 66 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย นับเป็นมรดกโลกแห่งที่ 7 ของประเทศไทย และยังเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย
ดาวเทียมสำรวจโลก WorldView-3 ได้ทำการบันทึกภาพบริเวณพิกัด 15.4641° N, 101.1447° E ปรากฏเป็น “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” จ.เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 66 โดยภาพจากดาวเทียมแสดงให้เห็นบริเวณพื้นที่อุทยานฯ ที่มีลักษณะทางกายภาพของ “เมืองโบราณศรีเทพ” ที่ค่อนข้างสมบูรณ์และมีขนาดใหญ่กว่าโบราณสถานอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมสมัยกันอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในเมืองไทย เมืองโบราณแห่งนี้มีคูเมืองเป็นกำแพงเมืองล้อมรอบ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย เมืองชั้นในและเมืองชั้นนอก มีพื้นที่ประมาณ 4.7 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,889 ไร่ ซึ่งถูกโอบล้อมไปด้วยพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนโดยรอบที่มีร่องรอยหลักฐานสะท้อนถึงการดำรงชีวิตของประชาชนที่เรียบง่ายตามวิถีดั้งเดิมของคนในพื้นที่
ข้อมูลจากกรมศิลปากรระบุว่า “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” เป็นหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์จำนวน 10 แห่งของไทยในปัจจุบันที่จัดตั้งขึ้นโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2527 สำหรับชื่อเรียก “ศรีเทพ” นั้นเป็นการอนุโลมตามพระวินิจฉัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย ที่ได้ทรงสันนิษฐานไว้ในคราวเสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ. 2447 อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ นับเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากยังเป็นพื้นที่ที่ปรากฏร่องรอยหลักฐาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของมนุษย์ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ ซึ่งรวมระยะเวลาที่มีความเจริญรุ่งเรืองถึงกว่า 800 ปี ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไปด้วยสาเหตุโรคระบาดร้ายแรงหรือปัญหาภัยแล้ง
เรื่องน่ารู้ :
ดาวเทียม WorldView-3 สามารถบันทึกภาพพื้นที่ได้มากถึง 680,000 ตารางกิโลเมตร บันทึกภาพได้ทั้งระบบช่วงคลื่น Panchromatic และช่วงคลื่นอื่น ๆ อีกมากถึง 16 แบนด์ เช่น Multispectral ระดับ 1.24 เมตร, Short-wave Infrared ระดับ 3.7 เมตร และ CAVIS ระดับ 30 เมตร ที่รวมเรียกว่า “Super-spectral” ด้วยคุณสมบัติที่ให้ข้อมูลภาพรายละเอียดสูง เหมาะสมกับการนำไปใช้ในที่ต้องการภาพข้อมูลพื้นผิวโลกที่ชัดเจน เช่น การขยายตัวเมือง การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ แยกแยะรูปแบบการปลูกพืช/ชนิดพืช งานด้านสมุทรศาสตร์ งานแผนที่รายละเอียดสูง และงานภัยพิบัติ เป็นต้น
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ ThaiPBS
--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : gistda