ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ส่องหนี้ครัวเรือนเกษตรกรไทย...ปัญหาที่มูฟออนเป็นวงกลม


สิทธิมนุษยชน

พิชญา ใจสุยะ

แชร์

ส่องหนี้ครัวเรือนเกษตรกรไทย...ปัญหาที่มูฟออนเป็นวงกลม

https://www.thaipbs.or.th/now/content/67

ส่องหนี้ครัวเรือนเกษตรกรไทย...ปัญหาที่มูฟออนเป็นวงกลม

จะทำนาเช่าแบบนี้ไปจนถึงอายุเท่าไร?
“ก็ไม่รู้ จนกว่าเราจะไปไม่ไหว”

ป้าสมคิด สุภาพเนตร ชาวนา ต.บางขุด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท อายุ 67 ปี ที่ทำนามาตั้งแต่อายุ 14 ปี แม้เครื่องมือ และวิธีการในการทำนาจะเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่ยังคงเดิมตลอด 53 ปีที่ผ่านมา คือ ป้าสมคิดยังต้องเช่าที่นาอยู่ 30 กว่าไร่ ป้าติดหนี้กับสหกรณ์การเกษตรกว่า 200,000 บาท หนี้ ธ.ก.ส. อีกเกือบ 200,000 บาท และหนี้ร้านค้าค่าปุ๋ย-ยา และข้าวปลูกอีก 30,000 บาท รวมเป็นเงินกว่า 430,000 บาท

จากข้อมูลของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ปี 2556 – 2564 เกษตรกรไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ประมาณ 20,000-23,000 บาท แต่มีค่าใช้จ่ายประมาณ 15,000-17,000 บาท/เดือน ซึ่งเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของรายได้

โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของเกษตรกรใช้ไปกับ อาหารและเครื่องดื่ม (ไม่มีแอลกอฮอล์) ประมาณร้อยละ 34-37 รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและการเดินทาง ประมาณร้อยละ 17-23

แต่ถ้าหากมีลูก หรือเจ็บป่วย ค่าเล่าเรียน หรือค่ารักษาพยาบาล ก็อาจทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จนไม่เหลือเงินเก็บ หรือติดลบ

แต่การบริหารจัดการเงินของครัวเรือนเกษตรกรไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเกษตรกรมีปัญหาในหลายด้าน จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ระบุว่า มี 3 ปัญหาที่ท้าทายการบริหารจัดการเงินของครัวเรือนเกษตรกรไทย คือ

  1. มีรายได้น้อย คือ มีรายได้ไม่พอรายจ่ายที่จำเป็น หรือถึงพอก็ไม่พอจ่ายหนี้สินคงค้าง และไม่พอลงทุนทำการเกษตรรอบต่อไป
  2. รายได้ไม่สม่ำเสมอทั้งจากในและนอกภาคเกษตร และอาจมีรายจ่ายก้อนโตเพื่อลงทุนทำเกษตร หรือเพื่อใช้จ่ายจำเป็นอื่น ๆ เช่น การศึกษา สุขภาพ เป็นต้น เกิดปัญหาสภาพคล่อง
  3. รายได้ผันผวน ไม่แน่นอน ทั้งเรื่องภัยพิบัติ ราคาผลผลิตในตลาดที่ไม่คงที่

 

เมื่อเงินไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต การกู้ยืมคือทางออก ?

มีชาวนาแบบป้าสมคิดอีกมากมายในประเทศไทย ที่ต้องกู้ยืมเงินมาหมุนเวียนในการทำการเกษตร เพื่อประทังชีวิต แม้จะแทบไม่เห็นปลายทางว่าหนี้ก้อนนี้จะหมดไปได้อย่างไร เหมือนกับที่ป้าสมคิดบอกว่า “อยู่เฉย ๆ เราจะได้อะไร กินไปวัน ๆ เข้าใจรึเปล่า ทำแล้วเหลือนิดหน่อยเราก็เอาอันนั้นไว้กินแล้วก็ทำต่อ”

ในปี 2556 – 2564 ครัวเรือนของเกษตรกรในไทยมีหนี้สินกว่าร้อยละ 60-70 แต่ละครัวเรือนมีหนี้สินเฉลี่ยอยู่ที่ 168,119 – 311,098 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ทำให้เกษตรกรต้องไปกู้เงินเพื่อนำมาใช้จ่าย และลงทุนทำการเกษตรใช้หนี้ต่อไปเป็นวังวนที่ไม่รู้จบ โดยส่วนใหญ่เกษตรกรมักไปกู้ที่ ธ.ก.ส. กว่าร้อยละ 58.1 รองลงมาเป็น กองทุนหมู่บ้านชุมชนเมือง สถาบันการเงินและแหล่งเงินทุน ธนาคารพาณิชย์ และอื่น ๆ

 

ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร

สมจิต คงทน ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไทย มีข้อเสนอทางนโยบายต่อปัญหาหนี้สินของเกษตรกร คือ นโยบายการพักชำระหนี้ต้องพักดอกเบี้ย ในระยะเวลาที่ให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร (FTA) ผลักดันให้ไทยเป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ และมีกองทุนสนับสนุนเกษตรกรที่สามารถเข้าถึงได้ และการให้ความรู้ด้านการบริหารการเงินกับเกษตรกร

ด้าน รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ว่า นโยบายประกันรายได้และมาตรการประกันรายได้ข้าวไร่ละ 1,000 บาท ของรัฐบาล มีส่วนที่ทำให้เกษตรกรไม่ค่อยมีการปรับตัว และเสนอว่าจะต้องกำหนดเงื่อนไขในการอุดหนุนให้กับเกษตรกร เช่น กำหนดเทคโนโลยีที่ต้องใช้ในการทำเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงรัฐบาลต้องลงทุนส่งเสริมให้มีเทคโนโลยีสีเขียวด้วย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอีกทางหนึ่ง โดยนำงบประมาณ 50,000 ล้านบาท จากมาตรการประกันรายได้ข้าวมาใช้ส่วนนี้แทน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

หนี้สินครัวเรือนเกษตรกร
พิชญา ใจสุยะ

ผู้เขียน: พิชญา ใจสุยะ

อยากเกิดเป็นก้อนหิน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด