เสียงจาก “ดาวตก” เรื่องจริงหรือเราคิดไปเอง ?


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

5 มี.ค. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
เสียงจาก “ดาวตก” เรื่องจริงหรือเราคิดไปเอง ?

“ดาวตก” เป็นปรากฏการณ์ท้องฟ้าที่เกิดขึ้นทุกวัน การแหงนมองท้องฟ้ายามค่ำคืน รอคอยว่าจะเกิดดาวตกขึ้นที่ใด เป็นกิจกรรมที่เพลิดเพลิน เจริญตา และน่าประทับใจ

“ดาวตก” เกิดจากสะเก็ดดาวซึ่งเป็นวัตถุแข็งขนาดเล็กจาก “อวกาศ” พุ่งเข้ามายังโลก เมื่อปะทะเข้ากับบรรยากาศ จะเกิดความร้อนขึ้นจนสว่างจ้า ดาวตกจึงมองเห็นเป็นแสงสว่างพุ่งผ่านไปบนท้องฟ้า ยิ่งถ้าดาวตกลูกใดมี “เสียง” ด้วยก็จะยิ่งน่าตื่นเต้นยิ่งขึ้นไปอีก

ฝนดาวตก Generative by AI

แต่เดี๋ยวนะ “ดาวตก” มี “เสียง” ด้วยหรือ ?

โดยปกติ ปรากฏการณ์ทาง “ดาราศาสตร์” เป็นปรากฏการณ์แบบหนังเงียบ มีเพียงภาพให้มองเห็นเท่านั้น ไม่ว่าปรากฏการณ์นั้นจะมีความรุนแรงหรือทรงพลังเพียงใด ไม่มีใครเคยได้ยินเสียงสุริยุปราคา เสียงซูเปอร์โนวา เสียงแสงวาบรังสีแกมมา หรือเสียงดาวหาง เรารับรู้ปรากฏการณ์เหล่านั้นผ่านทางแสงและสีเท่านั้น ดาวตกก็เช่นกัน เรามักมองเห็นดาวตกท่ามกลางความเงียบสงัด ไม่มีเสียงใด ๆ หากจะมีก็คงเป็นเสียงวี้ดว้ายของเพื่อนที่ดูดาวตกอยู่ด้วยกันเท่านั้น

แต่น่าแปลกใจที่มีคนจำนวนไม่น้อยยืนยันว่าตนเคยเห็นได้ยินเสียงดาวตกด้วย ตัวอย่างที่มีบันทึกไว้เช่น บันทึกจากจีนที่มีคนได้ยินเสียงที่มาพร้อมฝนดาวตกใน ค.ศ. 817 เอ็ดมันด์ แฮลลีย์ (Edmond Halley) ก็เคยบันทึกถึงเสียงที่ได้ยินพร้อมกับดาวตกในปี ค.ศ. 1719

บันทึกการได้ยินเสียงดาวตกส่วนใหญ่บรรยายว่าเสียงเกิดขึ้นกับดาวตกดวงใหญ่ ส่วนใหญ่มีเสียงซู่ซี่เหมือนทอดไก่ บางครั้งก็มีเสียงหวือเหมือนบางอย่างพุ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว หรือคล้ายบางอย่างปริแตก

เสียงดาวตกเกิดขึ้นได้อย่างไร เราได้ยินเสียงจากดาวตกได้จริงหรือ ?

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ดาวตกเกิดจากสะเก็ดดาวที่เป็นของแข็งขนาดเล็กพุ่งเข้าใส่โลกด้วยความเร็วสูง สะเก็ดดาวเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าความเร็วเสียงมาก บางครั้งอาจสูงได้ถึงหลายสิบกิโลเมตรต่อวินาที การพุ่งเข้ามาในบรรยากาศด้วยความเร็วสูงทำให้เกิดโซนิกบูมดังสนั่นหวั่นไหว จึงมิต้องสงสัยว่า ดาวตกทำให้เกิดเสียงได้อย่างแน่นอน ดาวตกเกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศซึ่งเป็นตัวกลางนำเสียง เสียงที่เกิดจากดาวตกจึงมีตัวกลางในการเดินทางมาสู่หูคนบนพื้นโลกได้

อย่างไรก็ตาม เสียงเดินทางได้ไม่เร็วเท่าแสง ดังจะสังเกตได้ว่าเราได้ยินเสียงฟ้าร้องตามหลังฟ้าแลบเสมอ สำหรับดาวตกซึ่งเกิดขึ้นที่ระดับสูงประมาณ 80-120 กิโลเมตร ความเบาบางของอากาศชั้นบนยิ่งทำให้เสียงเดินทางได้ช้าลงไปอีก สมมุติว่าดาวตกที่เกิดขึ้นที่ระดับความสูง 100 กิโลเมตร กว่าที่เสียงจากดาวตกนั้นจะมาถึงพื้นโลกต้องใช้เวลานานราว 5 นาที หากเสียงเดินทางลงมาถึงหูคนได้จริง คนนั้นก็จะได้ยินเสียงหลังที่แสงจากดาวตกที่เกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาทีก็จางหายไปนานแล้วจนพิสูจน์ไม่ได้ว่าเสียงนั้นมาจากดาวตกจริงหรือไม่ นอกจากนี้ คลื่นเสียงที่แผ่มาเป็นระยะทางไกลมากก็จะแผ่วเบาเสียจนหูคนไม่ได้ยินเสียงเลยก็ได้ และหากเสียงจะเดินทางจากจุดกำเนิดดาวตกมาถึงคนบนพื้นโลกได้จริง ก็ควรจะได้ยินเป็นเสียงครืนต่ำ ๆ เบา ๆ

ดาวตก 123rf

แต่รายงานที่กล่าวถึงเสียงที่ได้ยินจากดาวตกระบุว่า เสียงที่ได้ยินนั้นเกิดขึ้นพร้อมกับดาวตกเลยทีเดียว เรื่องนี้จะอธิบายได้อย่างไร

“ดาวตก” ไม่ได้ทำให้เกิดแสงสว่างและเสียงเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดคลื่นวิทยุความถี่ต่ำด้วย คลื่นวิทยุมีความเร็วเท่าแสง จึงเดินทางมาถึงพื้นโลกพร้อมกับแสงสว่าง คนไม่มีสัมผัสรับคลื่นวิทยุ จึงไม่ได้ยินเสียงจากคลื่นวิทยุโดยตรง แต่เมื่อคลื่นวิทยุความถี่ต่ำแผ่มาถึงพื้นโลกจะทำให้วัตถุบนพื้นโลกบางชนิดสั่นสะเทือนได้ เช่น ใบไม้ เส้นผม ฟอยล์อะลูมิเนียม กระดาษ การสั่นของวัตถุใกล้ตัวเหล่านี้นี่เองที่ทำให้เกิดเสียงให้เราได้ยินพร้อมกับมองเห็นดาวตก ปรากฏการณ์เช่นนี้เรียกว่า ปรากฏการณ์อิเล็กโทรโฟนิกส์ เมื่อพิจารณาถึงลักษณะเสียงที่ผู้ที่อ้างว่าได้ยินบันทึกไว้ว่าเสียงดังซู่ซี่ หรือเสียงเหมือนกับเกิดขึ้นใกล้ ๆ ก็ยิ่งสนับสนุนว่าเสียงที่ได้ยินนั้นเป็นเสียงจากดาวตกจริงโดยผ่านทางปรากฏการณ์อิเล็กโทรโฟนิกส์

นอกจากดาวตกแล้ว แสงเหนือแสงใต้ หรือการกลับสู่โลกของยานอวกาศ ก็ทำให้เกิดเสียงจากปรากฏการณ์อิเล็กโทรโฟนิกส์ได้เช่นเดียวกัน


ของมันต้องลอง !

ในเมื่อคนอื่นยังได้ยิน “เสียงดาวตก” ได้ ทำไมเราจะไม่ได้ยินเสียงบ้างเล่า ดาวตกเกิดขึ้นทุกคืน เรามีโอกาสมากมายให้ได้ทดลองฟังเสียงดาวตกจากปรากฏการณ์อิเล็กโทรโฟนิกส์ได้ คราวต่อไปที่ออกไปนอนกลางทุ่งดูดาวตก ลองใช้วิธีนอนราบไปกับพื้นที่มีใบไม้แห้งวางกลาดเกลื่อน หาฟอยล์อะลูมิเนียมหรือกระดาษมาวางไว้ใกล้ ๆ ด้วยก็ได้ ใส่แว่นตากรอบโลหะด้วยก็ดี แล้วก็นอนดูดาวตกเงียบ ๆ ไม่ส่งเสียง ไม่แน่อาจได้รับประสบการณ์ใหม่จากการดูดาวด้วยการฟังเสียงจากดาวตกก็เป็นได้


อภิธานศัพท์

ดาวตก : meteor
แสงสว่างวาบบนท้องฟ้าในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่เกิดขึ้นจากวัตถุขนาดเล็กพุ่งเข้าสู่บรรยากาศโลก

สะเก็ดดาว : meteoroid
วัตถุจำพวกหินแข็งในอวกาศที่มีขนาดเล็กกว่าดาวเคราะห์น้อย อาจมีขนาดตั้งแต่เม็ดทรายจนใหญ่เท่าโอ่งน้ำ

ซูเปอร์โนวา : supernova
การระเบิดอย่างรุนแรงของดาวฤกษ์ มวลมาก แผ่พลังงานมหาศาล ความส่องสว่างอาจมากกว่าความส่องสว่างของทั้งดาราจักร

แสงวาบรังสีแกมมา : gamma-ray burst
การปะทุอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นในดาราจักรห่างไกล แผ่รังสีแกมมารุนแรง เป็นการปะทุที่ให้พลังงานมากที่สุดในเอกภพ คาดว่าเกิดจากดาวนิวตรอนชนกันหรือเกิดจากซูเปอร์โนวาชนิดที่รุนแรงเป็นพิเศษ


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : สมาคมดาราศาสตร์ไทย

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดาวตกฝนดาวตกเสียงดาวตกดาราศาสตร์ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - AstronomyScience
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover : (jiraphob.thawisoonsong@gmail.com)

บทความ NOW แนะนำ