ความวุ่นวายแห่งวงการพระสงฆ์ยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง หลังจากสีกาต้นเหตุได้ออกมาเผยข้อมูลอันน่าตกตะลึงที่ทำเอาชาวพุทธหลายคนถึงกับตกใจกับพฤติกรรมของอดีตพระผู้ใหญ่ที่แสดงบทรักกันได้แบบไม่น้อยหน้าคนหนุ่มคนสาว หลังจากนี้คงจะต้องติดตามกันต่อว่ากรณีนี้จะจบลงเช่นไร และบทเรียนนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างให้เกิดขึ้นกับสังคมหรือไม่
สิ่งที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ความเห็นของชาวเน็ตบางส่วนที่เห็นพ้องกันว่าศาสนากำลังเสื่อม ความศรัทธากำลังลดลง แต่ก็มีผู้ออกมาโต้แย้งว่าแท้จริงแล้วศาสนาไม่ได้เสื่อม แต่เป็นคนต่างหากที่เสื่อม จนเกิดเป็นวงสนทนาที่ต่อยอดกันมาจากประเด็นฉาว โดยมีความเสื่อมเป็นหัวข้อหลักในการสนทนา โดยมีความกังวลตามมาว่าความเสื่อมที่เกิดขึ้นจะส่งผลอย่างไรต่อภาพรวมของศาสนาพุทธในประเทศไทย
Thai PBS ชวนทำความเข้าใจและเรียนรู้เหตุแห่งความเสื่อมของพุทธศาสนาในอินเดีย เพราะอะไรทำไมในปัจจุบันผู้ที่นับถือศาสนาพุทธในอินเดียถึงมีอยู่แค่ประมาณ 0.7% ทั้งที่อินเดียเป็นประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของศาสนาพุทธ ความเสื่อมศรัทธาเกิดขึ้นเพราะอะไร และมีบทเรียนอะไรที่เราสามารถนำมาเปรียบเทียบเคียงกับสิ่งที่เกิด ณ ปัจจุบันได้บ้าง
ความห่างเหินระหว่างพุทธศาสนาและผู้นับถือ
หลังจากที่ศาสนาพุทธได้กำเนิดขึ้นเมื่อราว 2,500 ปีก่อนที่ประเทศอินเดีย หลักธรรมคำสอนได้ถูกเผยแพร่ออกไป โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชที่ปรับเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ ทำให้การเผยแพร่กระจายตัวออกไปเป็นวงกว้าง มีการสนับสนุนจากทางภาครัฐในทุกช่องทาง มีการบริจาคจากภาคประชาชนผู้ให้ความเลื่อมใสศรัทธา แม้จะทำให้ศาสนาเผยแพร่ออกไปได้อย่างราวเร็ว แต่รูปแบบการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างพระสงฆ์กับฆราวาสกลับเปลี่ยนแปลงไป ความใกล้ชิดกันจึงมีน้อยลง ไม่มีการแสดงธรรม มีความเป็นวิชาการมากขึ้น วัดกลายเป็นที่ให้ความรู้จนยากที่จะเข้าถึง
การแตกแยกของพุทธศาสนาเป็นนิกายต่าง ๆ
ศาสนาคือสิ่งที่ถูกยึดโยงผูกติดอยู่กับความเชื่อ แต่ความเชื่อนั้นย่อมมีความแตกต่างกันออกไปตามหลักแห่งความศรัทธา ตามคำสอนที่อาจถูกบิดเบือดไปตามกาลเวลา ผลของความเชื่อที่แตกต่างกัน ทำให้ศาสนาพุทธแตกแยกออกเป็น 18 นิกาย ตามการตีความที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งแต่ละนิกายต่างก็เชื่อว่าหลักธรรมคำสอนของตัวเองนั้นถูกที่สุด ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างนิกาย มีการทะเลาะโต้เถียงกันอย่างรุนแรง ปลายทางของการแตกแยกจึงนำไปสู่ทางออกในรูปแบบต่างคนต่างอยู่ เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกันระหว่างนิกาย ความเป็นปึกแผ่นของศาสนาพุทธจึงเริ่มสั่นคลอน
การขยายตัวของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
เมื่อศาสนามีความห่างเกินกับชาวพุทธ มีการแตกแยกกันระหว่างนิกาย มีความขัดแย้ง ทำให้ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อีกหนึ่งศาสนาเก่าแก่ที่มีต้นกำเนิดในอินเดียเช่นเดียวกัน ก็กลับได้ความนิยมเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีพิธีกรรมที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้ง่ายกว่าศาสนาพุทธ ไม่ว่าจะเป็น งานวันเกิด งานศพ งานแต่งงานก็ล้วนแล้วแต่มีพิธีกรรม สร้างความพึงพอใจให้กับผู้ให้ความนับถือ นอกจากนี้ยังมีการส่งต่อความเชื่อที่ว่าพระพุทธเจ้าเป็นอวตารองค์หนึ่งของพระวิษณุ รวมไปถึงมีการสร้างเทวสถานที่หลอมรวมสถาปัตยกรรมแบบพุทธและพราหมณ์เข้าด้วยกัน มีการนำหลักธรรมคำสอนมาปรับใช้จนยากจะแยกออก ที่สำคัญผู้ที่นับถือศาสนาพุทธจะถูกนับเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนศาสนา เพราะพระพุทธเจ้าเป็นอวตารองค์หนึ่งของพระวิษณุไปแล้วนั่นเอง และต่อมาเมื่อจักรวรรดิคุปตะได้ล้มสลายลง อินเดียได้แตกแยกออกเป็นอาณาจักรเล็ก ๆ ต่างมากมาย ซึ่งอาณาจักรต่าง ๆ เหล่านั้นก็มักจะนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู สถานะของพุทธศาสนาจึงถูกลดความสำคัญลงไปเรื่อย ๆ อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยง
การเสื่อมของพุทธศาสนาในมุมมองของพระถังซัมจั๋ง
ในหนังสือ “ทำไมพระพุทธศาสนาจึงเสื่อมจากอินเดีย” ที่เขียนโดย พระเทพวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ) ได้ระบุไว้ว่า จดหมายเหตุของหลวงจีนเฮียงจังหรือที่คนไทยคุ้นชินกันในชื่อพระถังซัมจั๋ง ได้บอกกล่าวถึงศาสนาพุทธในอินเดียระหว่างการเดินทางไปชมพูทวีปในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 ไว้ว่า พระในนิกายสัมมติยะ แห่งแคว้นสินธุ ใช้ชีวิตอย่างไม่ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ ห่มผ้ากาสาวพัสตร์แต่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต มีลูก มีเมีย เกียจคร้าน นอกจากนี้ท่านยังระบุไว้อีกว่า วัดบางวัดในอินเดีย ทำไร่ เลี้ยงวัว แต่ไม่ยอมแบ่งผลผลิตให้ใคร มีเก็บไว้มากมายเต็มยุ้งฉาง ปล่อยทิ้งไว้จนเน่าเสีย ไม่ได้ใช้ประโยชน์อันใด มีขอทานที่ปลอมตัวเป็นพระ โกนหัว ครองจีวร หลอกลวงเพื่อรับอาหารได้อย่างฟรี ๆ
ปัจจัยภายนอก การรุกรานของศาสนาอื่น
ในยุคที่ความขัดแย้งทางศาสนาคือส่วนหนึ่งของเหตุผลในการรุกราน โดยเฉพาะการรุกรานของกองทัพมุสลิมจากเอเชียกลางตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นการรุกรานอย่างรุนแรง ทำให้อารามและมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่อย่างมหาวิทยาลัยนาลันทา มหาวิทยาลัยสงฆ์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาถูกทำลาย คัมภีร์และตำราต่าง ๆ ถูกเผา สูญเสียคัมภีร์พุทธศาสนาไปเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงผู้เผยแพร่พุทธศาสนาอย่างพระภิกษุก็ถูกสังหาร พระที่รอดก็เดินทางหนีไปยังเนปาลและทิเบต ศาสนาพุทธจึงค่อยสูญหายไปจากอินเดียตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
จากเหตุผลที่หยิบยกขึ้นมาเพื่อบอกเล่าเรื่องเหตุแห่งความเสื่อมของพุทธศาสนาในอินเดีย น่าจะพอทำให้เราเห็นภาพได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพุทธศาสนาในอินเดีย มีทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในประกอบกันหลายภาคส่วน โดยความเสื่อมที่เกิดขึ้นค่อย ๆ ดำเนินไปอย่างช้า ๆ ผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่กลายเป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้ความเสื่อมทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น กล่าวคือถ้าไม่เกิดการคัดแย้งกันระหว่างนิกายจนความเป็นปึกแผ่นของศาสนาพุทธสั่นคลอน ความเสื่อมในปั้นปลายอย่างการรุกรานของศาสนาอื่นอาจไม่ได้ส่งผลถึงขั้นการสูญหายไปของศาสนาพุทธในอินเดีย อาจมีการร่วมแรงร่วมใจกันของชาวพุทธช่วยผยุงให้ศาสนายังคงอยู่ในอินเดียจวบจนทุกวันนี้ก็เป็นได้
ท้ายที่สุดเมื่อหันกลับมามองที่บ้านเรากับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ไม่ผิดนักที่ใครหลายคนจะพูดว่าความศรัทธากำลังลดลง ความน่าเชื่อถือของผู้เผยแพร่ศาสนากำลังจะหมดไป แต่ในฐานะชาวพุทธแม้เหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะทำให้เราเสื่อมศรัทธาลงไปบ้าง แต่อย่างน้อยที่สุดก็อยากจะขอให้เราย้อนกลับมาทำนุบำรุงศาสนาผ่านตัวเราเอง ด้วยการศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง เพราะเมื่อเป็นชาวพุทธที่มีคุณภาพ มีความมั่นคงในหลักธรรมแล้ว พลังของแต่ละคนก็จะรวมกันเป็นกำแพงที่แข็งแกร่ง ปกป้องพระพุทธศาสนาจากความเสื่อม ทั้งจากภายนอกและภายในได้อย่างยั่งยืน
ติดตามเนื้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจากเครือ Thai PBS