ยาน DESTINY+ ขององค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) เลื่อนกำหนดปล่อยสู่อวกาศจากปี 2024 เป็นปี 2025 ในภารกิจศึกษา “ดาวเคราะห์น้อยเฟธอน” (3200 Phaethon) ต้นกำเนิดของ “ฝนดาวตกเจมินิดส์”
ยาน DESTINY+ (“เดสทินี พลัส” : Demonstration and Experiment of Space Technology for Interplanetary Voyage, Phaethon Flyby and Dust Science) เป็นยานสำรวจของญี่ปุ่นที่มีเป้าหมายภารกิจในการศึกษาดาวเคราะห์น้อยเฟธอน (3200 Phaethon) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” (Geminids)
ยานสำรวจขององค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ลำนี้ เคยมีกำหนดการส่งขึ้นสู่อวกาศในปี ค.ศ. 2024 แต่ทาง JAXA ได้ประกาศในปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. 2023 ที่ผ่านมาว่ากำหนดการดังกล่าวถูกเลื่อนไปเป็นปี ค.ศ. 2025 เนื่องจากการพัฒนาจรวดเอปไซลอน เอส (Epsilon S) ที่จะใช้ส่งยาน
จรวดเอปไซลอน เอส เป็นจรวดรุ่นถัดไปจากจรวดเชื้อเพลิงแข็งรุ่นเอปไซลอนของญี่ปุ่น ซึ่งเครื่องยนต์จรวดที่จะใช้ในจรวดรุ่นใหม่นี้ระเบิดระหว่างการทดสอบเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2023 ทำให้ต้องเลื่อนกำหนดการส่งยาน DESTINY+
“ดาวเคราะห์น้อยเฟธอน” เป็นหนึ่งใน “วัตถุใกล้โลก” (Near-Earth object) ที่มีลักษณะของทั้งดาวเคราะห์น้อยและดาวหาง ดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดกว้าง 5 กิโลเมตรดวงนี้ ดูมีลักษณะแบบดาวหางผ่านรูปร่างวงโคจรที่ค่อนข้างเรียวยาวคล้ายวงโคจรดาวหางและเป็นแหล่งกำเนิดของฝนดาวตกเจมินิดส์ที่ปรากฏให้เห็นทุก ๆ กลางเดือนธันวาคม ซึ่งแหล่งกำเนิดฝนดาวตกส่วนใหญ่เป็นดาวหาง จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์สนใจความแปลกประหลาดของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้
ยาน DESTINY+ ที่หนัก 480 กิโลกรัมลำนี้จะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศจากศูนย์อวกาศอุจิโนอุระ (Uchinoura Space Center : USC) ก่อนเข้าสู่วงโคจรรูปวงรีรอบโลก ตัวยานจะมีเครื่องยนต์ไอออน 4 ตัว เพื่อใช้ขับเคลื่อนยานหลังจากที่ยานแยกตัวจากท่อนจรวดแล้ว จากนั้น ยานจะอาศัยแรงโน้มของดวงจันทร์เหวี่ยงยานเข้าสู่ห้วงอวกาศ เดินทางมุ่งหน้าสู่ดาวเคราะห์น้อยเฟธอน และใช้แผงเซลล์สุริยะผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์
เมื่อยาน DESTINY+ เคลื่อนเข้ามาเฉียดใกล้ดาวเคราะห์น้อยเฟธอน จะใช้กล้องโทรทรรศน์และกล้องถ่ายภาพหลายช่วงความยาวคลื่นถ่ายภาพเพื่อศึกษาพื้นผิวดาวเคราะห์น้อย โดยยานจะเฉียดใกล้ดาวเคราะห์น้อยที่ระยะใกล้ที่สุดราว 500 กิโลเมตร ในอัตราเร็วของยานที่ 33 กิโลเมตร/วินาที ซึ่งแต่เดิมเคยคาดการณ์ว่ายานจะเข้าใกล้ดาวเคราะห์น้อยเฟธอนในปี ค.ศ. 2029 แต่ทาง JAXA ยังไม่สรุปถึงกำหนดการใหม่ที่ยานจะเข้าใกล้ดาวเคราะห์น้อย หลังเลื่อนกำหนดการส่งยานขึ้นสู่อวกาศ
ยาน DESTINY+ จะศึกษาวิเคราะห์ฝุ่นระหว่างดาวเคราะห์และฝุ่นระหว่างดาวฤกษ์ โดยใช้อุปกรณ์วิเคราะห์ฝุ่น ที่พัฒนาและสนับสนุนโดยหน่วยงานในเยอรมนี ได้แก่ มหาวิทยาลัยชตุทการ์ท (University of Stuttgart) และศูนย์การบินอวกาศเยอรมนี (DLR) เพื่อศึกษาฝุ่นในอวกาศและสารประกอบอินทรีย์ในฝุ่นเหล่านี้ ถึงบทบาทต่อการกำเนิดสิ่งมีชีวิตบนโลก
ทาง JAXA ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ภารกิจยาน DESTINY+ ยังเป็นภารกิจทดสอบเทคโนโลยีอวกาศต่าง ๆ เช่น แผงเซลล์สุริยะ และระบบไฟฟ้าขับเคลื่อนยานด้วยไอออน ที่จะช่วยเป็นระบบขับเคลื่อนตัวยานสำหรับยานสำรวจที่ใช้งบประมาณน้อยลงและส่งขึ้นสู่อวกาศได้ถี่ขึ้นในอนาคต
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร., space